เกจวัดความดันมีกี่ประเภทเหมาะกับงานประเภทใด?

เกจวัดความดัน

(Pressure Gauge)

     เกจวัดความดัน (Pressure Gauge) คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดความดันของไหล ที่ไหลเวียนอยู่ภายในกระบวนการ หรือภายในท่อ เปรียบเทียบกันกับบรรยากาศภายนอก จนได้ค่าความดันออกมาแสดงผลบนหน้าจอ โดยนิยมใช้วัด ความดันน้ำ ความดันลม ความดันน้ำมันไฮดรอลิกส์ หรือแม้แต่ความดันแก๊ส ฯลฯ ทั้งในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม

     ในปัจจุบันเกจวัดความดัน ถูกผลิตออกมาให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น โดยจะมีโครงสร้างเป็นวงกลม ที่แสดงค่าวัดผลบนหน้าปัดคล้ายนาฬิกา มีทั้งแบบอนาล็อกและดิจิตอล ทำให้ผู้ใช้งานสามารถอ่านค่าและทราบผลได้ในทันที ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้งานเกจวัดความดันก็เพื่อใช้ตรวจสอบและควบคุมการผลิต ให้เป็นไปในมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยนั่นเอง

เกจวัดความดัน มีทั้งหมดกี่ประเภท?

เกจวัดความดันสามารถนำมาแบ่งประเภทได้ 2 แบบหลัก ๆ โดยแบ่งจากประเภทตามย่านการวัด หรือ แบ่งจากประเภทตามชนิดหน้าปัด ได้ดังนี้

- แบ่งประเภทตามย่านการวัด

  1. Pressure Gauge เป็นย่านการวัดความดันอากาศ ที่มีความดันที่มากกว่า 1 ATM
  2. Vacuum Gauge เป็นย่านการวัดความดันสุญญากาศ ที่ใช้ในการสูญญากาศ คือมีความดันต่ำกว่า 0 bar เช่น -1 ถึง 0 bar
  3. Compound Gauge เป็นย่านการวัดที่สามารถอ่านได้ทั้งค่าความดันปกติ และความดันสูญญากาศ เช่น – 1 ถึง 5 bar, -1 ถึง 1 bar เป็นต้น

- แบ่งประเภทตามชนิดหน้าปัด

เกจวัดความดันแบบเข็ม (Analog Pressure Gauge)

  1. เกจวัดความดันแบบธรรมดา (Dry pressure gauge) ด้านในของเกจวัดจะเป็นอากาศที่ถูกดูดความชื้นออกมาแล้ว แต่ไม่ถูกซีลอากาศ จึงทำให้เมื่อนำไปใช้งานในอุณภูมิที่สูง-ต่ำกว่าบรรยากาศภายนอกมาก ๆ จะเกิดปัญหาไอน้ำหรือฝ้าเกาะภายในหน้าปัด จนไม่สามารถอ่านค่าได้ จุดเด่นคือมีราคาถูกที่สุด
  2. เกจวัดความดันแบบเติมน้ำมัน (Oil Pressure gauge) มีราคาสูงกว่าแบบธรรมดา แต่มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายกัน โดยที่ภายในหน้าปัดถูกแทนที่ด้วยน้ำมัน เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) หรือ ซิลิโคนออยล์ (Silicone oil) ที่ไม่เป็นอันตรายต่อการใช้งาน โดยการเพิ่มน้ำมันเข้ามาก็เพื่อแก้ปัญหาหน้าปัดมีไอน้ำหรือฝ้าเกาะ ทั้งยังช่วยลดแรงกระชากของเข็มหน้าปัด ทำให้สามารถอ่านค่าได้ง่ายขึ้น เหมาะกับติดตั้งในพื้นที่ที่มีแรงสั่นสะเทือน

เกจวัดความดันแบบดิจิตอล (Digital Pressure Gauge)

เกจวัดความดันประเภทนี้ จะแสดงผลค่าความดันที่หน้าจอเป็นชุดตัวเลข มีทั้งแบบจอ LEDและLCD โดยการใช้เกจวัดความดันดิจิตอล จำเป็นต้องใช้แหล่งพลัง เช่น แบตเตอรี่ หรือไฟฟ้าเลี้ยงจากภายนอก แต่ข้อดีที่เด่นมากคือ มีค่าความแม่นยำและความละเอียดในการวัดสูงกว่าเกจวัดแบบเข็ม รวมถึงช่วยแก้ปัญการอ่านค่าผิดพลาด ที่เกิดจากมุมสายตาในการอ่านค่าแสดงผลเกจวัดแบบเข็ม

 

เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
 Line : @FACTORIPRO

Visitors: 7,873