เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด คืออะไร
งานวิจัย “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด สำหรับอุตสาหกรรมรายสาขา (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (บูรณาการ))” โดย รศ. ดร.อุรุยา วีสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมระดับรายสาขา ให้นำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การป้องกันมลพิษ ลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (cleaner technology: CT) เป็นแนวคิดและเทคนิคในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด โดยมีการเก็บข้อมูลและตรวจประเมินอย่างเป็นระบบ ทำให้รู้สาเหตุของผลกระทบ และหาทางป้องกันและแก้ไขได้ถูกต้อง ทั้งในด้านบุคลากร วิธีการปฏิบัติ และการจัดการเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญของปัญหา ความเหมาะสมในการนำมาปรับปรุงและปฏิบัติใช้ในองค์กร และมีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา จึงช่วยลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย รวมทั้งลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
โรงงานอุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดไปสู่การปฏิบัติใช้จริงให้กับอุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิต และตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้สามารถพัฒนาเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในการดำเนินโครงการ มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนโรงงานเข้าร่วมและสำรวจความพร้อมของโรงงานเบื้องต้น โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อนำมาประกอบในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด เช่น จำนวนโรงงาน กำลังการผลิต ชนิดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และประกอบการคัดเลือกวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพที่เหมาะสม ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
Line : @FACTORIPRO
Line : @FACTORIPRO