การใช้เครื่องสำรองไฟฟ้า
5 เทคนิคการใช้เครื่องสำรองไฟฟ้า
เครื่องสำรองไฟฟ้า คือ เครื่องที่ช่วยจ่ายพลังงานอย่างต่อเนื่อง ให้การทำงานของไฟฟ้าเป็นไปได้อย่างปกติ แม้ในยามที่ไฟดับหรือการทำงานของไฟฟ้ามีความผันผวน เช่น ไฟดับ ไฟตก ไฟเกิน ไฟกระชากได้ ประโยชน์ของเครื่องสำรองไฟคือทำให้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง จึงช่วยถนอมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ไม่เสี่ยงต่อความเสียหายหรือเกิดการลัดวงจร
วันนี้เรามี 5 เทคนิคการใช้เครื่องสำรองไฟฟ้า ( UPS: Uninterruptible Power Supply ) ที่ช่วยยืดอายุการใช้งาน
1. วิธีเลือกเครื่องสำรองไฟให้เหมาะกับการใช้งาน
- ประเภทของอุปกรณ์ที่ต้องการป้องกัน ต้องดูรายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าว่าใช้กำลังไฟฟ้าเท่าไร ถ้าหากเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือจอภาพ จะใช้พลังงานน้อยกว่า server ขนาดใหญ่ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในระดับองค์กร ทั้งนี้อุปกรณ์บางอย่างที่มีแบตเตอรี่ในตัวเอง เช่น แล็ปท็อป (laptops) อาจจำเป็นต้องใช้ถ้าหากรับแหล่งพลังงานจากเต้ารับเมื่อมีการใช้งานแต่ละครั้งเป็นเวลานานหลายชั่วโมง
- จำนวนอุปกรณ์ที่ต้องการสำรองพลังงาน เครื่องสำรองไฟบางแบบผลิตขึ้นเพื่อจ่ายไฟให้แค่คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว และบางแบบสามารถตั้งค่าการจ่ายไฟให้กับศูนย์ข้อมูลทั้งหมดได้ ยิ่งคุณมีจำนวนอุปกรณ์ที่ต้องการป้องกันมากเท่าไร เครื่องสำรองไฟยิ่งต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วยมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่หรือไม่ เครื่องสำรองไฟโดยทั่วไปไม่สามารถจ่ายไฟให้แก่อุปกรณ์เป็นเวลานานได้ เพียงแค่จ่ายไฟจนกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะเริ่มทำงานและมีการไหลของกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง
- อุปกรณ์ที่ต้องการสำรองพลังงานอยู่ในบริเวณเดียวกันหรือไม่ ถ้ากระจายอยู่ทั่วทั้งอาคารหรือหลายที่ คุณจำเป็นต้องใช้เครื่องสำรองไฟหลายเครื่อง เพื่อป้องกันอุปกรณ์ได้ครอบคลุมทั้งหมด
- ปริมาณพลังงานที่ต้องการสำรองไว้ หรือก็คือคุณต้องการใช้ระยะเวลานานแค่ไหนเพื่อให้อุปกรณ์ยังใช้งานต่อไปได้ก่อนจะปิดอุปกรณ์ ถ้าหากต้องการใช้ไฟสำรองเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้อย่างปกติและต่อเนื่อง จะต้องใช้เครื่องสำรองไฟที่มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่และใช้งานได้นาน แต่ถ้าต้องการใช้เพียงแค่ไม่กี่นาทีเพื่อให้สามารถปิดอุปกรณ์ได้อย่างปลอดภัย แบตเตอรี่ขนาดเล็กก็สามารถใช้งานได้เพียงพอแล้ว
2. เทคนิคการติดตั้งและต่อเครื่องสำรองไฟให้ถูกวิธี
หลังจากได้เครื่องสำรองไฟที่เหมาะสมกับการใช้งานเรียบร้อยแล้ว ควรศึกษาคู่มือการใช้งานของเครื่องสำรองไฟที่ต้องการติดตั้งร่วมด้วย เนื่องจากเครื่องสำรองไฟแต่ละแบบอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้หากเลือกใช้งานเครื่องสำรองไฟขนาดใหญ่ คุณจำเป็นต้องให้ช่างไฟฟ้าผู้มีประสบการณ์เข้ามาติดตั้ง เนื่องจากไฟฟ้าแรงสูง แต่โดยทั่วไปแล้วสำหรับเครื่องสำรองไฟขนาดเล็ก จะมีวิธีต่อเครื่องสำรองไฟกับคอมพิวเตอร์ตามขั้นตอนต่างๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน ดังนี้
- ติดตั้งเครื่องสำรองไฟบนพื้นที่เย็น แห้ง และสะอาด โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนสูง ความชื้นสูง มีฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกมาก
- เชื่อมต่อสายชาร์จเข้ากับเครื่องสำรองไฟฟ้า สำหรับบางรุ่นอาจติดตั้งสายไฟฟ้ามาให้แล้ว
- ชาร์จแบตเตอรี่เครื่องสำรองไฟเข้ากับไฟบ้านก่อนการใช้งาน ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่นั้นจะขึ้นกับแต่ละรุ่นและยี่ห้อ
- สังเกตด้านหลัง UPS จะมีช่องเต้ารับแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นและกำลังไฟฟ้า แต่โดยทั่วไปจะแบ่งเต้ารับเป็น 2 แบบ คือ เต้ารับสำหรับจ่ายไฟฟ้าสำรอง (Backup) และ เต้ารับสำหรับกันไฟฟ้ากระชาก (Surge Protect/Bypass)
- เสียบปลั๊กเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการสำรองไฟ ที่ช่องเต้ารับสำหรับจ่ายไฟฟ้าสำรอง
- สำหรับเต้ารับกันไฟฟ้ากระชาก จะไม่สามารถใช้ไฟฟ้าสำรองได้จึงใช้เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีการสำรองไฟเมื่อไฟฟ้าดับกระทันหัน เช่น Printer
3. วิธีเปิด-ปิดเครื่องสำรองไฟ
เครื่องสำรองไฟแต่ละรุ่นและยี่ห้อจะมีรายละเอียดของตัวเครื่องที่แตกต่างกัน บางเครื่องมีหน้าจอแสดงผล LCD ส่วนบางเครื่องแสดงสถานะผ่านแสงไฟสีต่างๆ รวมถึงสัญลักษณ์ด้านหน้าตัวเครื่อง หรือบางเครื่องอาจต้องกดสวิตช์(switch) ด้านหลังตัวเครื่องก่อนถึงจะกดเปิดได้ ดังนั้นควรอ่านข้อมูลการใช้งานเครื่องสำรองไฟที่คุณต้องการจะใช้งานก่อนทำการเปิดปิดเครื่อง ทั้งนี้จะมาแนะนำวิธีเปิดปิดเครื่องสำรองไฟโดยทั่วไปเพื่อให้เข้าใจแบบภาพรวม
วิธีเปิด
- เสียบปลั๊กเครื่องสำรองไฟเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าที่มีสายดิน
- สำหรับเครื่องที่มีสวิตช์อยู่ด้านหลังเครื่อง ให้กดสับสวิตช์เปิดเครื่อง
- ไฟแสดงสถานะ Standby Mode ขึ้นด้านหน้าตัวเครื่อง หรือหน้าจอ LCD จะสว่างขึ้นและมีตัวหนังสือแสดงบนจอ
- กดปุ่มเปิดเครื่องค้างเอาไว้ประมาณ 3-5 วินาที จนกระทั่งได้ยินเสียงดังขึ้น แล้วปล่อยมือทันที
- รอสักครู่หนึ่ง ระบบต่างๆ ของเครื่องสำรองไฟจึงพร้อมใช้งานโดยสมบูรณ์
- กดปุ่มปิดเครื่องค้างเอาไว้ประมาณ 3-5 วินาที จนกระทั่งได้ยินเสียงดังขึ้น แล้วปล่อยมือทันที
- เครื่องสำรองไฟกลับเข้าสู่สถานะ Standby Mode
- กดปิดสวิตช์ด้านหลังเครื่อง
- จากนั้นถอดปลั๊กเครื่องสำรองไฟออกจากเต้ารับไฟฟ้า รอสักครู่หนึ่งเครื่องจะปิดลงเอง
4. Do & Don’t เทคนิคการใช้งานเครื่องสำรองไฟที่ถูกวิธี
การทราบวิธีใช้เครื่องสำรองไฟและใช้งานได้อย่างถูกวิธี จะทำให้เครื่องทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและช่วยยืดอายุการใช้งานให้สามารถใช้ได้นานมากขึ้น โดยมีเทคนิคการใช้เครื่องสำรองไฟมาแนะนำกันสักเล็กน้อย ทั้งสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
สิ่งที่ควรทำ
- อ่านคู่มือการใช้งานให้เข้าใจเนื่องจากเครื่องแต่ละรุ่นมีรายละเอียดที่ต่างกัน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือ
- ลงทะเบียนประกันเครื่องสำรองไฟให้เรียบร้อย เผื่อกรณีสูญหายหรือต้องการคำแนะนำด้านเทคนิค
- จัดวางในบริเวณที่มีอากาศเย็นและสะอาด ควรอยู่ที่อุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส
- ตรวจสอบกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ก่อนนำมาเสียบต่อกับเครื่องสำรองไฟ ต้องไม่เกินกำลังของเครื่องสำรองไฟ ไม่เช่นนั้นเครื่องจะเสีย
- ต่อสายให้ถูกช่อง ทั้งช่องเต้ารับสำหรับจ่ายไฟฟ้าสำรองและเต้ารับสำหรับกันไฟฟ้ากระชาก
- ควรปิดเครื่องสำรองไฟทุกครั้งหลังจากใช้งานเสร็จ
- ตรวจสอบแบตเตอรี่เครื่องสำรองไฟให้แน่ใจว่าชาร์จจนเต็มเสมอ
- ทดสอบสภาพแบตเตอรี่เดือนละครั้ง โดยทำการถอดปลั๊กเครื่องสำรองไฟออกจากแหล่งจ่ายไฟ แล้วดูว่าเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ยังเปิดอยู่หรือไม่ และยังเป็นการกระตุ้นแบตเตอรี่อีกด้วย
- ถ้าหากแบตเตอรี่หมด ต้องรีบชาร์จภายใน 72 ชั่วโมง
- ตรวจสอบสายไฟอย่างสม่ำเสมอ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เนื่องจากอาจเกิดความเสียหายจากหนูมากัดแทะ
- หมั่นปัดฝุ่นทำความสะอาดตัวเครื่อง ช่องระบายอากาศ และดูแลให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม อากาศไหลเวียนถ่ายเทสะดวก
- ถ้าหากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญต่อการใช้งาน ควรติดตั้งระบบแจ้งเตือนเกี่ยวกับพลังงานของระบบเครื่องสำรองไฟเอาไว้ด้วย เช่น ติดตั้งไฟ LED จอ LCD หรือในบางรุ่นมีระบบแจ้งเตือนด้วยเสียง เพื่อแสดงสถานะของเครื่องสำรองไฟ ในกรณีแบตเตอรี่ต่ำ หรือใช้กำลังไฟฟ้าเกินกว่าที่เครื่องจะรับได้
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่ทำการซ่อมแซม แก้ไข หรือดัดแปลงเครื่องสำรองไฟด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เสียหายหนักกว่าเดิมจนใช้งานต่อไปไม่ได้
- ไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่หมด
- ไม่ใช้ต่อพ่วงกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกำลังไฟเกินกว่าที่เครื่องสำรองไฟกำหนดไว้
- ไม่วางเครื่องบริเวณที่แดดส่องถึงโดยตรง มีอุณหภูมิสูง อับชื้น หรืออากาศไม่ถ่ายเท
- ไม่วางไว้ในที่มีฝุ่นสกปรก เพราะฝุ่นจะเข้าเกาะที่แผงวงจร หรือแผงป้องกันความร้อนทำให้ระบายความร้อนได้ไม่ดี
- ไม่ใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภท โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความร้อน เพราะแบตเตอรี่ต้องจ่ายไฟฟ้าสูง เช่น เครื่องทำความร้อน และกาต้มน้ำร้อน
5. เทคนิคการชาร์จเครื่องสำรองไฟ
ในการใช้งานเครื่องสำรองไฟครั้งแรก ก่อนจะนำเครื่องสำรองไฟมาใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการ เครื่องสำรองไฟบางรุ่นจำเป็นจะต้องชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มเสียก่อน โดยวิธีชาร์จเครื่องสำรองไฟแต่ละยี่ห้อและแต่ละรุ่นจะใช้ระยะเวลาชาร์จให้เต็มไม่เท่ากัน และมีรายละเอียดในการชาร์จที่ต่างกัน จึงต้องอ่านคู่มือการใช้งานเครื่องรุ่นนั้นๆ ประกอบด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องชาร์จอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ถึงนำเครื่องมาใช้งานได้
- ก่อนทำการชาร์จ ให้เชื่อมต่อสายชาร์จเข้ากับเครื่องสำรองไฟ แต่ในเครื่องบางรุ่นอาจติดตั้งสายไฟฟ้ามาให้แล้ว จึงไม่ต้องต่อสายเพิ่มเติม
- อย่าเพิ่งเสียบปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ เข้ากับเครื่องสำรองไฟ
- เสียบปลั๊กเครื่องสำรองไฟฟ้ากับเต้ารับไฟฟ้าที่มีสายดิน ซึ่งเป็นเต้ารับแบบติดผนัง ไม่ควรต่อผ่านปลั๊กพ่วง
- จากนั้นเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการสำรองไฟ ที่ช่องเต้ารับด้านหลังเครื่องให้ถูกช่อง
- กดปุ่มเปิดเครื่อง และชาร์จทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ของเครื่องแต่ละรุ่น หรือเครื่องบางรุ่นอาจไม่จำเป็นต้องชาร์จทิ้งไว้ก็ได้
เทคนิคการใช้เครื่องสำรองไฟ การใช้เครื่องสำรองไฟให้ถูกต้อง เป็นส่วนในการยืดอายุการใช้งานและช่วยให้เครื่องสำรองไฟใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อนการใช้อ่านคู่มือการใช้งานให้เข้าใจก่อนใช้งานจริง ควรจัดวางเครื่องสำรองไฟในบริเวณที่มีอากาศเย็น สะอาด ไม่อับชื้น อีกทั้งควรทดสอบสภาพแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่หมด ไม่เช่นนั้นจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว หากมีปัญหาการใช้งานแล้วแก้ปัญหาเบื้องต้นตามคู่มือไม่สำเร็จ ต้องไม่ซ่อมแซม แก้ไข หรือดัดแปลงเครื่องสำรองไฟด้วยตัวเอง ควรติดต่อศูนย์บริการของเครื่องรุ่นนั้นๆ หรือช่างผู้มีประสบการณ์
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
Line : @FACTORIPRO