ความสำคัญของเอกสารงานซ่อมบำรุง
Tags: งานซ่อมบำรุง
ความสำคัญระบบเอกสารงานซ่อมบำรุง
นอกจากคุณภาพในการซ่อม, ทักษะของทีมช่าง, เครื่องมือที่เพียบพร้อมแล้ว “ระบบเอกสารงานซ่อมบำรุง” ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลย หากต้องการการซ่อมบำรุงที่ดีเพื่อนำไปสู่ “การบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance)” เนื่องจากระบบเอกสารนี้จะเป็นตัวบอกว่า ทีมช่างมีแผนงานต้องทำอะไร และสิ่งที่ทำไปแล้วส่งผลอะไรบ้าง ทำให้สามารถประเมินประสิทธิภาพในการซ่อมบำรุงได้ ด้วยเหตุนี้เอกสารสำหรับงานซ่อมบำรุงจึงเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับระบบเอกสารงานซ่อมบำรุงนั้น อาจจะมีชื่อและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทจะเรียก แต่โดยหลักแล้วจะต้องประกอบด้วยเอกสารพื้นฐานต่อไปนี้
1.ทะเบียนเครื่องจักร ถือเป็นเอกสารแรกๆที่ต้องถูกจัดทำขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่บ่งบอกว่า ภายในบริษัทมีเครื่องจักรกี่ประเภท จำนวนกี่เครื่อง แต่ละเครื่องมีรหัสอะไร และถูกติดตั้งในพื้นที่ทำงานโซนไหนบ้าง รวมไปถึงสามารถแบ่งระดับความสำคัญของเครื่องจักร (Rank)ได้เช่นกัน ทำให้สามารถเห็นภาพรวมของเครื่องจักรต้องที่รับผิดชอบ โดยหน่วยงานซ่อมบำรุงได้
2.ประวัติเครื่องจักร เป็นเอกสารอีกตัวที่มีความสำคัญมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเอกสารตัวนี้จะบอกให้ทราบถึง สภาพการทำงานของเครื่องจักร ทำให้หน่วยงานซ่อมบำรุงสามารถคาดการณ์ และวางแผนการซ่อมบำรุงให้เหมาะสมกับเครื่องจักรนั้นๆ
3.แผนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร เป็นปฏิทินการทำงานที่จะบอกว่า จะมีงานซ่อมบำรุงอะไรบ้างกับเครื่องจักรนั้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยแผนการซ่อมบำรุงนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลการทำงานโดยทีมช่างที่เข้าไปตรวจสอบ หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งแจ้งโดยพนักงานหน้างาน ทำให้ทีมงานซ่อมบำรุงสามารถวางแผนและจัดเตรียมอะไหล่สำหรับงานซ่อมบำรุงได้อย่างเหมาะสม
4.รายงานการตรวจเช็ค หรือ “รายงานการซ่อมบำรุง” เป็นเอกสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นตัวบอกว่า มีความเคลื่อนไหวใดบ้างเกิดขึ้นกับเครื่องจักรภายใต้การดูแลของหน่วยงาน
5.คู่มือสอนงาน ในบางบริษัทจะถูกเรียกว่า “Work Instruction (WI)” เป็นเอกสารอีกตัวที่ควรมี ใช้สำหรับการสอนพนักงานที่เข้ามาใหม่ หรือเพื่ออบรมทบทวนความรู้ให้แก่พนักงาน โดย WI นี้จะบอกถึงวิธีการปฏิบัติงาน ข้อควรกระทำ ข้อห้ามต่างๆ ไปจนถึงการแก้ปัญหาแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรนั้นๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พนักงานที่ยังขาดความเข้าใจในกระบวนการทำงานสามารถเรียนรู้ได้เร็วที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดการขาดตกบกพร่องในกระบวนการทำงานอีกด้วย
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
Line : @FACTORIPRO
Line : @FACTORIPRO