เทคโนโลยี 5G เปลี่ยนวิถีโรงงาน
เทคโนโลยี 5G เปลี่ยนวิธีโรงงาน
จากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยกว่าร้อยละ 70 ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0 หรือต่ำกว่า ระดับอุตสาหกรรม 3.0 มีเพียงร้อยละ 28 ขณะที่โลกกำลังปรับกระบวนการผลิตไปสู่ระบบอัตโนมัติ การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากยืนอยู่บนทางสองแพร่ง จะเดินหน้าต่อ หรือ โบกมือลา
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจบริการโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะไทย (Smart Factory Solutions: SFS) มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากเดิมก่อนช่วงโควิดที่มีแนวโน้มเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงหนุนหลักจากกระแสอุปสงค์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน และกระแสการรุกลงทุนของผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตไทยได้เริ่มขยายมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนโรงงานอัจฉริยะ จากเดิมที่มักจำกัดอยู่เพียงการนำหุ่นยนต์และระบบลำเลียงอัตโนมัติมาใช้งานเพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนด้านแรงงาน ไปสู่การลงทุนเพื่อบริหารจัดการสายการผลิตแบบบูรณาการผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น IoT และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น สะท้อนภาพว่าถ้าโรงงานไหนไม่ปรับตัวก็แข่งขันลำบาก หรือแข่งขันไม่ได้เลย
การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกมาตรการสนับสนุนการยกระดับโรงงานระดับ 2.0 3.0 ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งต้องมีการปรับปรุงในหลายมิติไปพร้อมๆ กัน ทั้งระบบอัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะ และเทคโนโลยีดิจิทัล ผลักดันการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Automation and Network Technology) การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด (Smart Operation) หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร (Digital Technology in Production & Enterprise Processes) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องใช้เงินทุนและได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในการจูงใจ
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญ ช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัลให้กว้างขวาง ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณ 5G ให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งปัจจุบันโรงงานในอีอีซีได้ขับเคลื่อนคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ภายใน 5 ปี โดยบุคลากรในพื้นที่อีอีซีจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างความพร้อมและจูงใจผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี ตั้งเป้าพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซีให้ตรงความต้องการอุตสาหกรรมดิจิทัล 40,000 คนภายใน 3 ปี
ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC) กล่าวว่า อีอีซีประสบความสำเร็จในการพัฒนาบุคลากรร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อยกระดับทักษะบุคลากรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างต่อเนื่องให้ตรงความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ตามแนวทาง Demand driven โดยที่ผ่านมาอีอีซีได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ MOU ที่สำคัญๆ ไปแล้ว เช่น หลักสูตร 5G ICT และ Digital ภายใต้ Huawai ASEAN Academy ดำเนินการอบรมทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล 30,000 คนภายใน 3 ปี ความร่วมมือ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ผลักดัน EEC Automation Park เน้นการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้เป้าหมาย 8,000 โรงงานในอีอีซี เป็นต้น
เสียงสะท้อนจาก ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ผ่านการเสวนา “ไตรมาส 4/2564 การเมือง-เศรษฐกิจ วิกฤติหรือโอกาส” เสนอแนะว่า อนาคต 4.0 อีอีซี เรื่องการนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงาน หรือการเปลี่ยนแปลงโรงงานให้เป็นระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่รัฐบาลอย่าลืมแลดูข้างหลังด้วย ตัวเลขส่งออกที่โตได้ทุกวันนี้มาจากโรงงานที่ยังอยู่ในระดับ 2.0 หรือ 3.0 บางแห่ง 1.5 รัฐบาลควรนำงบประมาณส่วนหนึ่งไปช่วยอัพเกรดโรงงานเหล่านี้ ยกระดับให้เชื่อมต่อกับ 4.0 ให้ได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและรักษาอำนาจการจ้างงาน
ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เห็นชอบโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับดำเนินโครงการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยโครงการสินเชื่อ EXIM Biz จะเป็นการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 คงที่ร้อยละ 2 ปีที่ 3-5 Prime Rate – ร้อยละ 2 และปีที่ 6-7 Prime Rate (ปัจจุบัน ณ 30 ก.ค. 64 อัตราดอกเบี้ย Prime Rate อยู่ที่ร้อยละ 5.75) เพื่อใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรหรือลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต รวมทั้งปรับปรุงระบบ Software ดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ (S/M/L) ที่อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอนาคต เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2565
นอกจาก ธสน.แล้ว แบงก์อื่นๆ ของรัฐก็ควรนำสินเชื่อรูปแบบนี้ออกมาสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการกระจายเงินทุนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะโรงงาน 1.0-2.0 จำนวนมากที่ยังมีข้อจำกัดในเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ
วีถีโรงงานยุค 5G ใครไม่เปลี่ยนคงยากจะไปต่อ!!
แหล่งข้อมูล
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
Line : @FACTORIPRO
Line : @FACTORIPRO