วัสดุที่นิยมใช้เป็น Food Grade
วัสดุที่นิยมใช้เป็น Food Grade มีกี่ชนิดและมีแบบไหนบ้าง
Food Grade บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตมาจากวัสดุที่ปลอดภัย ที่สามารถนำมาใช้เกี่ยวกับอาหารได้ ไร้สิ่งเจือปน และปลอดสารเคมีตกค้าง ทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย และมั่นใจได้ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้รองรับอาหาร
1. PP : POLYPROPYLENE (พอลิโพรพิลีน)
พลาสติกชนิดนี้ มีความแข็งและเหนียว คงรูปดี ทนต่อการหักงอ ทนต่อความร้อนและสารเคมีได้ มีความใส ป้องกันการผ่านของความชื้นได้ดี แต่ป้องกันการผ่านของอากาศได้ต่ำ และไม่ทนต่อความเย็น มักใช้ในการผลิตถุงร้อนแบบใส และกล่องพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร
โดยถุงร้อนแบบใส สามารถใส่ของร้อนจัดได้ อุณหภูมิมากกว่า 100 องศาเซลเซียส เช่น น้ำเดือด ของทอด ฯลฯ หากใส่ของเย็น ก็ใส่ได้ แต่จะแช่แข็งไม่ได้ เพราะถุงจะกรอบ แตก เปราะได้ หากเป็นกล่องพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร จะมีความแข็งแรงทนทาน ป้องกันความชื้นได้ดี ด้วยคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้สูงถึง 121 องศาเซลเซียส จึงทำให้นำเข้าอุ่นในเตาไมโครเวฟได้ ทั้งนี้ พลาสติก PP ยังสามารถนำไปทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารในครัวเรือน เช่น จาม ชาม ถ้วย ได้อีกด้วย
2. HDPE : High Density Polyethylene (ไฮเดนซิตี้พอลิเอทิลีน)
ลักษณะมีความแข็งแรง ความใสไม่มากนัก แสงผ่านได้น้อย สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรด และด่าง เพราะไม่ว่องไวต่อปฏิกิริยาเคมี มีความเหนียว ยืดหยุ่น ทนทานต่อการแตกหรือหักงอได้ดี ป้องกันการผ่านของอากาศได้ต่ำ จึงไม่เหมาะสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ใช้การอัดอากาศ ป้องกันการซึมผ่านของความชื้นได้สูงมาก ทนความร้อนได้เล็กน้อย
มักนำมาผลิตเป็นถุงร้อนแบบขุ่น ถุงไฮเดน ถุงขุ่น สามารถใส่ของร้อนได้ ที่มีอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เช่น นมร้อน น้ำเต้าหู้ ฯลฯ หากใส่ของเย็น ก็ใส่ได้ แต่จะแช่แข็งไม่ได้ เพราะถุงจะกรอบ แตก เปราะ โดยสามารถใส่เป็นถุงหิ้วน้ำหวาน ถุงหิ้วใส่น้ำแข็ง และน้ำอัดลม ได้
3. LDPE : Low density polyethylene (โลว์เดนซิตี้พอลิเอทิลีน)
เป็นพลาสติกที่ไม่ทนความร้อน นิ่ม ยืดหยุ่นได้ดี ทนต่อการทิ่มทะลุ และการฉีกขาด เนื้อมีความเหนียว ไม่กรอบแตกง่าย แต่ความแข็งแรง ทนทานน้อยกว่า HDPE และโปร่งแสง มีความใสน้อยกว่า PP ไม่ว่องไวต่อปฏิกิริยาเคมี ทนต่อกรดและด่าง ป้องกันการผ่านของความชื้นได้ดี ออกซิเจนและอากาศซึมผ่านได้ ไขมันซึมผ่านได้ นิยมนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารเช่น ถุงเย็น ฟิล์มหดและฟิล์มยืด ขวดน้ำ ฝาขวด ใช้ผลิตแผ่นฟิล์มที่ใช้รวมกับวัสดุอื่น เป็นวัสดุประสาน (laminate) เพื่อปิดผนึกด้วยความร้อน และใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อ (aseptic packaging) สามารถใส่ของร้อนได้ไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส หากนำใส่ของเย็น สามารถนำไปแช่แข็งได้
4. PETE : Polyethylene Terephthalate (พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต)
ลักษณะมีความเหนียว ทนทาน มีความยืดหยุ่นต่อแรงกระทบกระแทก จึงไม่แตกเมื่อถูกแรงกดดัน และมีคุณสมบัติในการป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้ด้วย นิยมนำไปเคลือบเพื่อทำเป็นซองสำหรับบรรจุอาหารที่มีความไวต่อก๊าซ เช่น ขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้ ยังนิยมใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์กล่องอาหารพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก บรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ อาหารปรุงสุกสำหรับอุ่นแบบต้มทั้งถุง เพราะมีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา โดยพลาสติกชนิดนี้ ไม่สามารถนำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟได้ เพราะจะทำให้พลาสติกบิดงอจากความร้อน
สำหรับ กระดาษ ที่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารนั้นก็คือ กระดาษฟู้ดเกรด โดยมักมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารได้ อาทิเช่น การประกอบอาหาร บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร เป็นต้น โดยข้อดีของการนำเอากระดาษชนิดนี้มาใช้ในวงการอาหารและเครื่องดื่มนั้น นอกจากเหมาะกับการใช้กับอาหาร ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ จึงเหมาะกับการนำมาบรรจุอาหารเครื่องดื่มสำหรับพกพาเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่ก็นิยมใช้กัน
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
Line : @FACTORIPRO