ระบบระบายอากาศในโรงงาน
ทำไมถึงต้องมี ระบบระบายอากาศในโรงงาน
1. การควบคุมอุณหภูมิภายในพื้นที่
การทำงานของระบบระบายอากาศมีคุณสมบัติที่ช่วยระบายอากาศได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ โดยขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงานว่ามีลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
- สินค้าบางประเภทมีคุณสมบัติที่ไม่สามารถทนทานต่อความร้อนได้ จึงทำให้การจัดเก็บสินค้าของโกดังขนาดใหญ่ ต้องมีการวางระบบระบายอากาศด้วยการติดตั้งพัดลมยักษ์ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากพื้นที่
- การทำงานของเครื่องจักรที่ส่งความร้อนสูง นอกจากจะส่งผลกระทบต่ออายุการใช้งาน ยังทำให้คนที่ทำงานอยู่ใกล้บริเวณนั้นรู้สึกไม่สบายตัว อาจต้องมีการติดตั้งพัดลมอีแวปควบคู่กับพัดลมอุตสาหกรรมที่ช่วยระบายอากาศ เพื่อเป็นการสร้างความเย็นภายในพื้นที่และควบคุมความชื้นที่เกิดขึ้น
ปัญหาของโรงงานที่เกิดความร้อนสูง
- เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เครื่องจักรบางประเภทในโรงงานอุตสาหกรรมจะแผ่ความร้อนออกมา หากปล่อยให้เกิดการสะสมภายในพื้นที่เป็นเวลานาน จะทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ได้รับผลกระทบต่อร่างกายได้ เช่น เป็นลม, อ่อนเพลีย, ร่างกายขาดน้ำ หรือมีผดผื่นขึ้นตามร่างกาย เป็นต้น
- ลดประสิทธิภาพของการทำงาน ถึงแม้ว่าความร้อนที่เกิดขึ้นในโรงงานจะไม่มีระดับสูง ก็ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เพราะอากาศที่อบอ้าวจะทำให้เหนียวตัว แถมยังหายใจไม่สะดวก ส่งผลให้มีการทำงานที่ช้าลง
- ส่งผลกระทบต่อการผลิต สำหรับเครื่องจักรที่ทำงานอยู่เกือบตลอดเวลา ต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนสูงในพื้นที่ เพราะจะทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรลดลง และต้องหยุดทำการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงส่วนที่เสียหายก่อน
2. ลดสิ่งปนเปื้อนที่สะสมอยู่ในอากาศ
การปฏิบัติงานในพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม ก็คงไม่พ้นเรื่องของงานผลิตที่ต้องมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน ที่ส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง, ไอระเหยของสารเคมี และควัน โดยสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้จะลอยไปสะสมอยู่ในอากาศ ทำให้อากาศที่มีอยู่ในพื้นที่ของโรงงานเป็นมลพิษ หากมีบุคลากรหรือพนักงานทำงานอยู่ภายในบริเวณนั้นเป็นเวลานานก็จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง เช่น การระคายเคืองที่เกิดขึ้นตามร่างกาย หรือปอดมีปัญหาไม่สามารถหายใจได้สะดวก
จึงทำให้ ‘ระบบระบายอากาศในโรงงาน’ เป็นตัวช่วยในการลดสารปนเปื้อน สำหรับโรงงานที่มีสารเคมีสะสมอยู่ในปริมาณที่น้อย จะสามารถนำอากาศบริสุทธิ์เข้ามาผสมให้เกิดการเจือจางลงได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่มีการปฏิบัติงานของสารเคมีในปริมาณที่มาก จะต้องทำการกำจัดมลพิษออกจากโรงงานให้หมด ซึ่งการนำอากาศเข้ามาภายในจะต้องมีตัวช่วยอย่างพัดลมระบายอากาศ โดยมีหน้าที่นำลมบริสุทธิ์เข้ามาในปริมาณมากและรวดเร็ว
3. ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ระเบิด
โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทจะมีการนำสารตั้งต้นของเคมีชนิดไวไฟมาใช้กับงานผลิต จึงมีโอกาสที่สารชนิดนั้นกระจายอยู่ในโรงงานด้วยรูปแบบไอระเหยหรือก๊าซได้ ถ้าหากปล่อยเอาไว้โดยที่ไม่มีระบบระบายอากาศ จนทำให้เกิดการสะสมของสารที่เข้มข้นลอยปะปนอยู่ในอากาศ เมื่อไหร่ที่ภายในโรงงานเกิดความร้อนหรือมีสะเก็ดไฟ จะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการปะทุและลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
การนำระบบระบายอากาศมาใช้งาน นอกจากจะช่วยปรับอุณหภูมิให้ภายในพื้นที่มีความเย็นสบายมากขึ้น ยังเป็นการถ่ายเทนำละอองของสารเคมีที่สะสมอยู่ภายในพื้นที่ออกสู่ด้านนอก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงจากการระเบิดและอัคคีภัย
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
Line : @FACTORIPRO