วิธีดูแลเครื่องสำรองไฟฟ้า
วิธีดูแล “เครื่องสำรองไฟฟ้า”
เครื่องสำรองไฟฟ้า UPS ก็คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่สามารถทำการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในเวลาที่เกิดไฟดับ หรือเกิดปัญหาแรงดันไฟฟ้าผันผวนผิดปกติ โดย UPS จะทำการปรับระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
หน้าที่ของเครื่องสำรองไฟ คือ ป้องกันความเสียหายที่สามารถเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อ) โดยมีสาเหตุจากความผิดปกติของพลังงานไฟฟ้า เช่น ไฟตก ไฟดับ ไฟเกิน และไฟกระชาก เป็นต้น รวมถึงมีหน้าที่ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองจากแบตเตอรี่ให้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเกิดปัญหาทางไฟฟ้า แบตเตอรี่เครื่องสำรองไฟฟ้ามักมีอายุการใช้งาน 2-3 ปี เมื่อแบตเตอรี่เสื่อมสภาพแล้ว คุณก็ต้องเสียเงินซื้อแบตเตอรี่ตัวใหม่มาเปลี่ยนซึ่งอาจต้องยกเครื่องสำรองไฟฟ้าไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญเปลี่ยนให้
วิธีดูแลรักษาและยืดอายุการใช้งาน เครื่องสำรองไฟฟ้า
1. อ่านคู่มือการใช้งานให้เข้าใจ
เมื่อซื้อเครื่องสำรองไฟฟ้ามาแล้ว คุณควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องนั้น ๆ ให้เข้าใจถ่องแท้ ควรอ่านข้อมูล คำแนะนำ และคู่มือที่มีมาให้ในกล่องอย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจการทำงานของตัวเครื่อง ระบบ ปุ่ม รวมถึงข้อควรระวังและข้อห้ามต่าง ๆ ก่อนจะเปิดเครื่องใช้งานจริง เพื่อลดโอกาสใช้งานผิดวิธีซึ่งอาจทำให้เครื่องสำรองไฟฟ้าขัดข้องหรือพังได้
2. วางเครื่องสำรองไฟฟ้า ให้ห่างไกลฝุ่นและปัดฝุ่นสม่ำเสมอ
แรกเริ่มเลย คุณควรวางเครื่องสำรองไฟฟ้าให้อยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดฝุ่นหรือวางไว้ในจุดที่ฝุ่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะฝุ่นอาจเข้าไปเกาะอยู่ตามแผงวงจรต่าง ๆ ของเครื่องสำรองไฟฟ้าหรือฉนวนป้องกันความร้อนจนก่อนให้เกิดความร้อนสะสมและไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้ จนสะสมความร้อนเอาไว้มากเกินไป แบตเตอรี่จึงเสื่อมสภาพไวขึ้น
นอกจากเลือกจุดวางเครื่องสำรองไฟฟ้าแล้ว คุณควรปัดเช็ดทำความสะอาดฝุ่นเป็นประจำ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นด้วย ควรใช้ผ้าแห้งสะอาด ๆ หรือแปรงขนอ่อนนุ่มปัดฝุ่นออกจากเครื่องสำรองไฟฟ้าเป็นประจำทุกวันและทุก ๆ 6 เดือนสำหรับการปัดฝุ่นภายในตัวเครื่อง
3. วางเครื่องสำรองไฟฟ้าไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท
นอกจากควรวางเครื่องสำรองไฟฟ้าไว้ในบริเวณที่มีฝุ่นน้อยแล้ว บริเวณนั้นควรมีอากาศถ่ายเทสะดวกและไม่อับชื้น เพราะความอับและชื้นเป็นอันตรายต่อเครื่องสำรองไฟฟ้า (รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ด้วย) อาจทำให้ระบบไฟฟ้าภายในชำรุดเสียหาย และอาจทำให้แบตเตอรี่เครื่องสำรองไฟฟ้าเสื่อมสภาพได้อีกด้วย
4. อย่าใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท
เครื่องสำรองไฟฟ้าถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ในการสำรองไฟฟ้าช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีแผงวงจรบอบบาง เพื่อให้สั่งปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นให้ถูกต้องตามระบบหลังจากไฟฟ้าหลักเกิดขัดข้อง แผงวงจร เมนบอร์ด หรือระบบภายในจะได้ไม่ชำรุดเสียหาย จึงไม่ควรนำเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปมาเสียบกับเครื่องสำรองไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความร้อน เช่น กาต้มน้ำร้อน เครื่องทำความร้อน เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้กินไฟมาก แบตเตอรี่ต้องจ่ายไฟเยอะ ระยะเวลาในการสำรองไฟฟ้าจึงน้อยลงตามไปด้วย
5. กำหนดโหลดของ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ต่อพ่วงให้เหมาะสม
โหลด คือ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมาต่อพ่วงกบเครื่องสำรองไฟฟ้า ซึ่งเครื่องสำรองไฟฟ้าแต่ละรุ่นจะมีอัตรา Rating ของปริมาณโหลดที่เหมาะสม คุณควรเสียบพ่วงเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ไม่เกินปริมาณ Rating ของเครื่องสำรองไฟฟ้าจนเกิดการโอเวอร์โหลดหรือใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง เพราะหากใช้เกิน จะทำให้เครื่องสำรองไฟฟ้าตัดการทำงานและไม่จ่ายไฟฟ้าให้กับโหลด นอกจากไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเครื่องสำรองไฟฟ้าแล้ว การที่แบตเตอรี่ไม่มีการคายประจุเก่าเพื่อชาร์จประจุใหม่ก็อาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้อีกด้วย
6. ไม่ต้องถอดปลั๊กเครื่องสำรองไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน
หลายคนอาจเข้าใจว่าหากไม่ได้ใช้เครื่องสำรองไฟฟ้านาน ๆ หรือไม่อยู่บ้านหรือออฟฟิศเป็นเวลานาน ควรปิดเครื่องสำรองไฟฟ้าเสีย เผื่อหากไฟฟ้าดับ แบตเตอรี่ของเครื่องสำรองไฟฟ้าจะได้ไม่เสื่อมเพราะมีการจ่ายไฟฟ้าออกไปเรื่อย ๆ จนหมด
ทั้งที่จริงแแล้วคุณควรเสียบปลั๊กเครื่องสำรองไฟฟ้าเอาไว้เสมอแม้คุณไม่อยู่สักระยะ เพราะหากไฟฟ้าเกิดดับขึ้นมาและแบตเตอรี่สำรองได้จ่ายไฟฟ้าไปแล้ว เมื่อไฟฟ้ากลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แบตเตอรี่จะได้รับการประจุไฟฟ้าใหม่อีกครั้งตามปกติ ทำให้แบตเตอรี่ได้คายประจุไฟฟ้าเก่าออกมาแล้วทดแทนประจุไฟฟ้าใหม่ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นแบตเตอรี่ ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ได้อีกด้วย
แต่หากคุณถอดปลั๊กเครื่องสำรองไฟฟ้าออกแต่ไม่ได้ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออก แบตเตอรี่ก็จะยังจ่ายไฟฟ้าออกไปเช่นเดิมโดยที่เราไม่รู้ตัว และหากทิ้งแบตเตอรี่ว่างเปล่าเอาไว้นาน แบตเตอรี่อาจเสียหายจนไม่อาจชาร์จได้อีก
7. ทดสอบสภาพ แบตเตอรี่เครื่องสำรองไฟฟ้า เดือนละครั้ง
คุณควรตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่เครื่องสำรองไฟฟ้าอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะหากแบตเตอรี่เสื่อม เก็บกักไฟฟ้าได้ไม่เท่าเดิม ก็ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ทันที เพราะหากทิ้งไว้ แบตเตอรี่จะยิ่งเสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ จนไม่อาจเก็บกักพลังงานไฟฟ้าสำรองได้
วิธีทดสอบสภาพแบตเตอรี่ทำได้หลายวิธี เช่น ทดสอบจากซอฟต์แวร์หากเครื่องนั้นมีระบบนี้รองรับ หรือวิธีง่ายที่สุดก็คือถอดปลั๊กเครื่องสำรองไฟฟ้าออกขณะที่ยังเปิดใช้งานเครื่องไฟฟ้าที่เสียบไว้ ทิ้งไว้สักครู่ หากแบตเตอรี่เครื่องสำรองไฟฟ้ายังอยู่ในสภาพดี คอมพิวเตอร์จะเปิดอยู่เพราะได้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องสำรองไฟฟ้า จากนั้นจึงค่อยเสียบปลั๊กเครื่องสำรองไฟฟ้ากลับเหมือนเดิม
นอกจากนี้การถอดปลั๊กเครื่องสำรองไฟฟ้าเดือนละครั้ง ยังทำให้แบตเตอรี่จะคายประจุเก่าออกมาแล้วประจุกระแสไฟฟ้าใหม่เข้าไปเพื่อเป็นการกระตุ้นเซลล์ในแบตเตอรี่ ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้นานขึ้นอีกด้วย
8. ไม่ซ่อมแซม แก้ไข หรือดัดแปลง เครื่องสำรองไฟฟ้า ด้วยตัวเอง
หากเครื่องสำรองไฟฟ้าขัดข้อง คุณไม่ควรพยายามซ่อมแซม แก้ไข หรือ ดัดแปลงด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้ตัวเครื่องหรือระบบภายในเสียหายกว่าเดิมหรือพังจนไม่อาจใช้งานได้ หรือไม่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการสำรองไฟฟ้าในอนาคตได้ ควรติดต่อศูนย์บริการที่ดูแลเครื่องสำรองไฟฟ้าของคุณหรือส่งให้ช่างผู้เชี่ยวชาญดูแล
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
Line : @FACTORIPRO