หน้าแปลน (flange) มีกี่ประเภท

หน้าแปลน (flange) มีกี่ประเภท

How many types of flanges are there

ประเภทของหน้าแปลน (flange)
1.หน้าแปลนคอเชื่อม (weld neck flange)
2.หน้าแปลนสลิปออน (slip on flange)
3.หน้าแปลนเกลียว (threaded flange)
4.หน้าแปลนบอด (blind flange)
5.หน้าแปลนเชื่อมซ็อกเก็ต (socket weld flange)
6.หน้าแปลนแลปจอยท์ (lap joint flange)
7.หน้าแปลนสี่เหลี่ยม (square flange)

     หน้าแปลน (flange) จัดว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของงานระบบท่อภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดกันเรื่องประเภทของหน้าแปลน ว่ามีกี่ประเภทและใช้งานแบบใด

ประเภทของหน้าแปลน (flange)

1. หน้าแปลนคอเชื่อม (weld neck flange)
หน้าแปลนคอเชื่อม (weld neck flange)

     จะมีลักษณะเด่นบริเวณช่องตรงกลาง (bore) จะมีคอท่อยื่นออกมาคล้ายกรวยทำให้เวลาเชื่อมเข้ากับปลายท่อเมื่อมีแรงดันมากระทบหน้าแปลน คอเชื่อมจะเกิดการถ่ายโอนแรงดันไปที่เส้นท่อได้ทันที ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับหน้าแปลนเชื่อมที่ใช้งานกับระบบท่อแรงดันสูงได้ดี ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้กับงานระบบท่อที่มีขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ
 

2. หน้าแปลนสลิปออน (slip on flange)
หน้าแปลนสลิปออน (slip on flange)

     มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะทรงกลมที่มีรูตรงกลาง (bore) และมีส่วนคอท่อยื่นขึ้นมาเล็กน้อย ด้านในช่องของหน้าแปลนชนิดนี้จะเป็นแบบเรียบ ทำให้เวลาติดตั้งจำเป็นต้องทำการเชื่อมในแนวฉาก (fillet weld) ทั้งภายนอกและภายในให้แน่นหนา จึงเหมาะสำหรับใช้กับระบบท่อแรงดันต่ำและมีอุณหภูมิปานกลาง

3. หน้าแปลนเกลียว (threaded flange)
หน้าแปลนเกลียว (threaded flange)

     หน้าแปลนชนิดนี้ช่องตรงกลางแผ่น (bore) มีลักษณะเป็นเกลียวในทำให้การประกอบหมุนเข้ากับปลายท่อที่เป็นเกลียวนอก สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องมีการเชื่อมไฟฟ้า มีคุณสมบัติต้านทานแรงดึง ทนทานต่อน้ำมันและก๊าซ อีกทั้งยังสามารถติดตั้งในบริเวณที่มีเชื้อเพลิงได้อย่างปลอดภัย จึงเป็นที่นิยมใช้กับท่อขนาดเล็กสำหรับแรงดันและอุณหภูมิต่ำ เช่น ระบบท่อประปาหรือระบบท่ออากาศ
 

4.หน้าแปลนบอด (blind flange)
หน้าแปลนบอด (blind flange)

     เป็นลักษณะหน้าแปลนแผ่นโลหะทรงกลม ไม่มีช่องตรงกลาง (bore) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยปิดกั้นหรือหยุดของเหลวและสารต่างๆ ที่อยู่ภายในไม่ให้รั่วไหลออกมาได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับใช้เชื่อมปิดให้กับงานระบบท่อขนส่งและถังความดันต่างๆ เพื่อให้สามารถทำการทดสอบแรงดันหรือซ่อมบำรุงท่อได้ง่ายขึ้น
 

5. หน้าแปลนเชื่อมซ็อกเก็ต (socket weld flange)
หน้าแปลนเชื่อมซ็อกเก็ต (socket weld flange)

     มีลักษณะคล้ายกับหน้าแปลนสลิปออนแต่จะมีส่วนแตกต่างกันตรงที่ด้านในช่อง (bore) สำหรับใส่ท่อจะมีบ่ายื่นออกมา ทำให้สามารถติดตั้งได้โดยการเชื่อมในแนวฉาก (fillet weld) เฉพาะภายนอกเท่านั้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยล็อกหน้าแปลนเชื่อมกับปลายท่อได้ดี ประหยัดเวลาในการติดตั้ง และช่วยให้การไหลของเหลวหรือก๊าซเป็นไปอย่างราบรื่น จึงเหมาะสำหรับใช้กับท่อขนาดเล็กที่มีแรงดันสูง
 

6.หน้าแปลนแลปจอยท์ (lap joint flange)
หน้าแปลนแลปจอยท์ (lap joint flange)

     เป็นหน้าแปลนที่มีอุปกรณ์ 2 ชิ้นใช้งานร่วมกัน ได้แก่ แผ่นหน้าแปลนและสตับเอ็นด์ (stub end) ซึ่งสตับเอ็นด์จะมีลักษณะเป็นคอท่อสั้นและใช้เชื่อมเข้ากับปลายท่อและเป็นส่วนที่ใช้สวมเข้ากับแผ่นหน้าแปลน ทำให้หน้าแปลนสามารถขยับหรือหมุนได้ตามต้องการ และช่วยให้การติดตั้งขันยึดโบลท์และน็อตของหน้าแปลนเชื่อมเข้ากับระบบท่อต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงเหมาะสำหรับใช้กับงานระบบท่อที่มีการถอดเข้า-ออกบ่อยครั้งเพื่อทำการตรวจสอบ
 

7. หน้าแปลนสี่เหลี่ยม (square flange)
หน้าแปลนสี่เหลี่ยม (square flange)

     หน้าแปลนสี่เหลี่ยม (square flange) มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีช่องวงกลมตรงกลาง (bore) และรอบแผ่นถูกเจาะรูจำนวน 4 รู สำหรับนำโบลท์และน็อตยึดหน้าแปลนสองหน้าเข้ากันได้อย่างแน่นหนา มีคุณสมบัติทนทานต่อการกัดกร่อน ทนต่ออุณหภูมิสูง และสารเคมีได้ดี จึงเหมาะสำหรับใช้กับงานระบบท่อไฮดรอลิกที่มีแรงดันปานกลาง-แรงดันสูง เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ งานก่อสร้าง
 
     >> จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความเรื่อง หน้าแปลน หวังว่าทุกท่านจะได้ความรู้ไม่มากก็น้อย และอย่าลืมติดตาม FactoriPro กันด้วยนะครับ <<
 
 
 
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
 Line : @FACTORIPRO
 
ไลน์ Line FactoriPro
Visitors: 7,873