DIN มาตรฐานเหล็กของเยอรมัน

DIN มาตรฐานเหล็กของเยอรมัน

     มาตรฐาน DIN (Deutsch Institute Norms) เป็นมาตรฐานที่กำหนดคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของเหล็กกล้าชนิดต่าง ๆ จำแนกประเภทของมาตรฐานเหล็กเยอรมันออกได้ 4 ประเภท ดังนี้

1. เหล็กกล้าคาร์บอน
2. เหล็กกล้าประสมต่ำ
3. เหล็กกล้าประสมสูง
4. เหล็กหล่อ

1. เหล็กกล้าคาร์บอน หรือเหล็กไม่ผสม (Carbon steel)
เป็นมาตรฐานการกำหนดปริมาณคาร์บอนและความบริสุทธิ์ของเหล็กกล้า โดยสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานเป็น 2 ประเภท ดังนี้
     1.1 เหล็กที่นำไปใช้งานได้เลย ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีปรับปรุงคุณสมบัติโดยใช้ความร้อน (Heat Treatment) โดยจะนำหน้าด้วยตัวอักษร ST และตามด้วยตัวเลขซึ่งบอกถึงความสามารถที่จะทนแรงดึงได้สูงสุด มีหน่วยเป็น กก./มม.
• ตัวอย่าง ST 37 หมายถึง เหล็กกล้าคาร์บอนที่สามารถทนแรงดึงได้สูงสุด 37 กก./มม.
     1.2 เหล็กที่ต้องนำไปผ่านการปรับปรุงคุณสมบัติโดยใช้ความร้อน (Heat Treatment) ก่อนจะนำไปใช้งาน โดยจะนำหน้าด้วยตัวอักษร C และตามด้วยตัวเลขที่แสดงปริมาณเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอน ซึ่งจะต้องหารด้วย 100 เสมอ
• ตัวอย่าง C25 หมายถึง เหล็กกล้าคาร์บอนที่มีคาร์บอนประสมอยู่ 0.25 %
 
2. เหล็กกล้าประสมต่ำ (Low Alloy Steel)
     มาตรฐานของเหล็กกล้าประสมต่ำตามมาตรฐานเยอรมัน เป็นมาตรฐานที่กำหนดถึงปริมาณของธาตุผสมต่าง ๆ ในเหล็กกล้า เช่น แมงกานีส โครเมียม นิกเกิล โมลิบดีนัม วาเนเดียม เป็นต้น โดยจะมีตัวอักษรและ ตัวเลขหลายหมู่ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
• ตัวเลขหมู่แรก บอกเปอร์เซ็นต์คาร์บอนที่ผสมอยู่ในเนื้อเหล็ก โดยหารด้วย 100 เสมอ
• ตัวอักษรหมู่สอง บอกชนิดของสารที่ผสมอยู่ โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จำแนกออกได้เป็นตัวย่อ ดังนี้
• โครเมียม (Cr)
• แมงกานีส (Mn)
•โคบอลต์ (Co)
• นิกเกิล (Ni)
• ซิลิคอน (Si)
• ทังสเตน (W)
• ทองแดง (Cu)
• อะลูมิเนียม (Al)
• โมลิบดีนัม (Mo)
• ไทเทเนียม (Ti)
• วาเนเดียม (v)
• กำมะถัน (S)
• ฟอสฟอรัส (P)
• ไนโตรเจน (N)
• คาร์บอน (C)
• ตัวเลขหมู่สาม บอกเปอร์เซ็นต์ของธาตุที่ผสมอยู่ในเหล็กเรียงตามลำดับ คำนวณโดยนำค่าแฟกเตอร์ (Factor) ของโลหะประสมแต่ละชนิดไปหารหาค่าแฟกเตอร์ของโลหะประสมต่าง ๆ โดยกำหนดให้มีค่าดังนี้
• หารด้วย 4 ได้แก่ Co, Cr, Mn, Ni, Si, W
• หารด้วย 10 ได้แก่ Al, Cu, Mo, Pb, Ti, V
• หารด้วย 100 ได้แก่ C, N, P, S
• ไม่ต้องหาร ได้แก่ Zn, Sn, Mg, Fe
 
ตัวอย่าง 20 Mn Cr 54
หมายถึง เป็นเหล็กกล้าประสมต่ำที่มีปริมาณของคาร์บอนประสมอยู่ 0.2% (20/100)
มีแมงกานีสประสมอยู่ 1.2% (5/4) และมีโครเมียมประสมอยู่ 1% (4/4)
 
ตัวอย่าง 25 Cr Mo 4
หมายความว่า เป็นเหล็กกล้าประสมต่ำที่มีปริมาณของคาร์บอนประสมอยู่ 0.25% (25/100)
มีโครเมียมประสมอยู่ 1% (4/4) มีโมลิบดีนัมประสมอยู่เล็กน้อย (โมลิบดีนัมไม่มีตัวเลข)
 
3. เหล็กกล้าผสมสูง (High Alloy Steel)
     หมายถึง เหล็กกล้าตามมาตรฐานเหล็กในอุตสาหกรรมระบบเยอรมันที่มีวัสดุผสมอยู่ในเนื้อเหล็กเกินกว่า 8 % โดยจะใช้อักษร X ซึ่งหมายถึง “เหล็กกล้าผสมสูง” เขียนกำกับไว้หมู่แรก และใช้เลขหมู่ถัดมาเป็นเปอร์เซ็นต์ของปริมาณของคาร์บอนที่ผสมอยู่ ซึ่งจะต้องนำไปหารด้วย 100 เสมอ ส่วนตัวอักษรหมู่สามจะเป็นชนิดของสารที่นำไปผสม และตัวเลขถัดไป จะทำหน้าที่บอกเปอร์เซ็นต์ของธาตุที่ผสมอยู่ในเหล็กเรียงตามลำดับ โดยไม่จำเป็นต้องหารด้วยค่า Factor เหมือนเหล็กกล้าผสมต่ำ
 
ตัวอย่าง X 20 Cr Ni10 8
หมายถึงเหล็กกล้าผสมสูงที่มีปริมาณของคาร์บอนผสมอยู่ 0.2% (20/100) มีโครเมียมผสมอยู่ 10% มีนิกเกิลผสมอยู่ 8%
 
4. เหล็กหล่อ (Cast Iron)
     สำหรับในมาตรฐานเหล็กเยอรมัน ได้มีการกำหนดให้เหล็กหล่อแต่ละชนิด มีสัญลักษณ์ตัวอักษรเอาไว้ ดังนี้
• GS หมายถึง เหล็กเหนียวหล่อ
• GG หมายถึง เหล็กหล่อสีเทา
• GGG หมายถึง เหล็กหล่อกราไฟต์ก้อนกลม
• GT หมายถึง เหล็กหล่อเหนียว
• GTS หมายถึง เหล็กหล่อเหนียวสีดำ
• GH หมายถึง เหล็กหล่อแข็ง
• GTW หมายถึง เหล็กหล่อเหนียวสีขาว
 
โดยการเขียนสัญลักษณ์ของเหล็กหล่อจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ แบ่งตามความสามารถในการรับแรงกระทำ และปริมาณคาร์บอนที่ผสมอยู่ในเหล็กหล่อ โดยมีคำจำกัดความของทั้งสองแบบ ดังนี้
 
1.เขียนบอกความสามารถที่รับแรงดึงได้สูงสุดของเหล็กหล่อ มีหน่วยเป็น กก./มม. ตัวอย่าง GS-52 หมายถึง เหล็กเหนียวหล่อสามารถทนแรงดึงได้ 52 กก./มม.
2.เขียนบอกปริมาณของคาร์บอนที่ผสมอยู่ในเหล็กหล่อ โดยหารด้วย 100 เสมอ มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ตัวอย่าง GS-C90 หมายถึง เหล็กเหนียวหล่อมีปริมาณของคาร์บอนผสมอยู่ 0.90 

 

เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
 Line : @FACTORIPRO

ไลน์ Line FactoriPro

 

Visitors: 7,873