จับจังหวะ คว้าโอกาส จาก อีวี จีน

จับจังหวะ คว้าโอกาส จาก “อีวี” จีน

Catch the rhythm, seize the opportunity from China's "EV"

จับจังหวะ คว้าโอกาส จาก “อีวี” จีน

     จะทำอย่างไรให้ค่ายรถยนต์จากจีน ที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์บ้านเรา ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ (Local Content) เหมือนเช่นเดียวกับเมื่อครั้ง ค่ายญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบก…มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต...ยังเป็นคำถามที่เหล่าผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้ง ใหญ่…กลาง…เล็ก ตั้งตารอคำตอบ อยากให้กระบวนการผลิตเกิดระบบซัพพลายเชนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี หลายคนปรามาส… ถึงการเข้ามาของค่ายรถยนต์จากจีน เสมือน “อีวีศูนย์เหรียญ” ที่ท้ายสุดประเทศไทยไม่ได้อะไรจากการเข้ามาครั้งนี้
 
     คำพูดที่ว่า จีนจะไม่แตะต้องวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากคนไทยเลย ด้วยการขนเครือข่ายการผลิตและกลุ่มชิ้นส่วนเข้ามาเองทั้งหมดยังเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง ซึ่งอาจจะเป็นคำกล่าวเกินไปกว่าความเป็นจริง โดยนำไปเปรียบเทียบญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในบ้านเรา ทั้งลงทุน ร่วมทุนกับผู้ประกอบการคนไทย ถ่ายทอดและพัฒนาศักยภาพการผลิต
 
     ทำให้ระบบซัพพลายเชนแข็งแกร่ง มีการแบ่งสรรปันส่วนให้ผู้ประกอบการไทย คนไทย ธุรกิจไทยได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน ญี่ปุ่นใช้เวลา 50-60 ปี ตอนนั้นนักวิชาการหลายสำนักมองว่า ประเทศไทยก็แค่ “ผู้รับจ้างผลิต” แม้จะมีชิ้นส่วนบางกลุ่ม บางประเภท ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ก็ยังไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง
เพราะชิ้นส่วน กลไก สำคัญที่ใช้ในการผลิต เช่น เกียร์, ECU ยังต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลไทย ที่พยายามวางกรอบข้อบังคับ เงื่อนไข และมาตรการจูงใจในการลงทุนจนสามารถผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก
 
     วันนี้เช่นเดียวกัน มาตรฐานการดึงดูดนักลงทุนจากจีนที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่นั้น ต้องให้ความเข้มข้นกับ กรอบ ข้อบังคับ และระยะเวลาที่กำหนดยิ่งในห้วงเวลาทีประเทศจีน กำลังเผชิญกับวิกฤตจีโอโพลิติกและมาตรการการกีดกันทางการค้าจากยุโรปและอเมริกาถือเป็นจังหวะและโอกาส ที่เราจะใช้วิกฤตนี้ให้เกิดประโยชน์
เพราะนั่นหมายความว่า รถยนต์ (อีวี) ที่ผลิตจากจีนจะถูกแซงก์ชั่น จีนต้อง “ดิ้น” เพื่อหาฐานผลิตแห่งใหม่ ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่การผลิตรถเท่านั้น ต้องลงลึกไปถึงการใช้วัตถุดิบ แหล่งที่มาและแหล่งกำเนิดสินค้า ต้องไม่ใช่มาจากประเทศจีน ถึงเวลานั้น ความกังวลเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ หรืออีวีศูนย์เหรียญ ก็น่าจะคลายลง
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการกำหนดให้มีการลงทุนในลักษณะจอยต์เวนเจอร์ เราจะได้ทั้งโนว์ฮาวและเทคโนโลยี แต่ต้องไม่ลืมว่า… ความแตกต่างระหว่างวิถีญี่ปุ่นที่เราคุ้นชินกันมากว่า 50-60 ปี เน้นช้าแต่ชัวร์ ขณะที่จีน…เน้นคิดเร็ว ทำเร็ว
 
     โอกาสครั้งสำคัญมาถึงแล้ว แม้ว่าต้นทุนการผลิตไทยอาจจะแพงกว่าจีน
แต่ถ้ามาตรการกีดกันทางภาษีหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ แพงกว่า (นิดหน่อย) แต่ยังขายรถได้
มีหรือ “มังกรจีน” จะยอมปล่อยหลุดมือ
 

     >>> จบกันไปแล้วสำหรับเนื้อหาที่เรานำเสนอวันนี้ และครั้งต่อไปเราจะนำเสนอเรื่องใด สามารถติดตามพวกเราได้หรือเยี่ยมชมและรับข่าวสารต่าง ๆ ได้ที่

 

Facebook : FACTORIPRO
Youtube : FACTORIPRO
Website : www.FactoriPro.com

 

เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
 Line : @FACTORIPRO

ไลน์ Line FactoriPro

Visitors: 7,872