การสร้างโรงงานเป็นของตัวเองให้คุ้มค่าและเหมาะสมกับธุรกิจ

การสร้างโรงงานเป็นของตัวเองให้คุ้มค่าและเหมาะสมกับธุรกิจ

     หนึ่งในลิสต์ของคนที่อยากทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เติบโตก้าวหน้า ลดต้นทุนการผลิต และได้กำไรมากที่สุด คือการมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเป็นของตัวเอง เพราะการที่เราเป็นเจ้าของเองโดยตรงนั้น จะทำให้เราควบคุมคุณภาพในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารคลังสินค้า รวมถึงการส่งออกและกระจายผลิตสินค้าให้รวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่หากมีแผนที่จะสร้างหรือซื้อโรงงานเป็นของตัวเองนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่คิดปุบปับแล้วจะสามารถทำได้ทันทีเลย เพราะการจะสร้างโรงงานมีปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างให้คำนึงถึง โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ประเภทโรงงาน’ ที่มีผลเกี่ยวกับกฎหมายและความเหมาะสมของธุรกิจเรานั่นเอง เพื่อให้เหล่านักธุรกิจที่มีแผนจะสร้างโรงงานได้เตรียมความพร้อมให้มากที่สุด วันนี้เราได้รวบรวมประเภทโรงงานที่แบ่งตามกฎหมาย ความแตกต่าง และหลักสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับการสร้างโรงงานมาฝากแล้ว!
ความหมายคำว่าโรงงานตามหลักกฎหมาย
ก่อนไปดูประเภทของโรงงาน สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการรู้ความหมายของโรงงานตามหลักกฎหมายก่อน ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 โรงงาน คือ อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมหรือเทียบเท่า 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เพื่อประกอบกิจการโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบ การบรรจุสินค้า การทดสอบ การซ่อมบำรุง การปรับปรุง การเก็บรักษา รวมถึงการทำลายด้วย
 
     ประเภทของโรงงาน
กฎหมายโรงงานกำหนดแบ่งโรงงานออกเป็น 3 ประเภทหลัก ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการควบคุมและการป้องกันเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความเดือดร้อน อุบัติเหตุต่างๆ เพื่อป้องกันความเสียหาย และป้องกันอันตรายตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโรงงาน รวมถึงสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียดดังนี้
  • โรงงานประเภทที่ 1
เป็นโรงงานที่เครื่องจักรมีกำลังไม่เกิน 20 แรงม้าหรือเทียบเท่า และมีคนงานไม่เกิน 20 คน หากเป็นโรงงานประเภทที่ 1 นี้ จะสามารถดำเนินกิจการได้เลยทันที โดยไม่ต้องขออนุญาต สามารถดำเนินกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาต เช่น โรงงานทำน้ำตาลจากมะพร้าว โรงงานฟักไข่ โรงงานซ่อมเสื้อผ้า/เครื่องหนัง ทั้งนี้ ยกเว้นในเคสที่มีการใช้เครื่องจักรหรือมีกระบวนการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ให้จัดเป็นประเภทเดียวกับโรงงานประเภทที่ 3
  • โรงงานประเภทที่ 2
โรงงานประเภทที่ 2 เป็นโรงงานที่มีขนาดเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า แต่ไม่เกินหรือเทียบเท่า 75 แรงม้า และต้องมีจำนวนคนมากกว่า 50 คน และน้อยกว่า 75 คนเช่นเดียวกัน โดยโรงงานประเภทนี้สามารถดำเนินกิจการได้เลยทันทีโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตก่อน แต่จะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีในทุกๆ ปี ทั้งนี้ ยกเว้นในเคสที่มีการใช้เครื่องจักรหรือมีกระบวนการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ให้จัดเป็นประเภทเดียวกับโรงงานประเภทที่ 3 เช่นเดียวกัน
  • โรงงานประเภทที่ 3
โรงงานประเภทสุดท้ายคือโรงงานที่มีเครื่องจักรมากกว่า 75 แรงม้า และมีจำนวนมากกว่า 75 คนขึ้นไป โรงงานประเภทนี้จำเป็นจะต้องมีใบประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกให้ เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานเกี่ยวกับน้ำมันพืชและสัตว์ โรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับยานพาหนะ เทคโนโลยี การผลิตเฟอร์นิเจอร์ โดยโรงงานประเภทนี้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี และเสียค่าใบ ร.ง.4
ปัจจัยสำคัญที่ต้องเช็กและวางแผนให้รอบคอบก่อนตั้งโรงงาน
 
     โรงงานทุกประเภทจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามกฎที่กำหนดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงแค่การเลือกประเภทและขนาดที่เหมาะสมกับธุรกิจของเรา แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องเช็กและวางแผนให้รอบคอบก่อนตั้งโรงงาน ดังนี้
 
1) สถานที่ที่สามารถตั้งโรงงานได้
การเลือกทำเลที่ตั้งหรือสถานที่ที่สามารถตั้งโรงงานได้เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก ทั้งยังมีผลในเรื่องของกฎหมายบังคับเอาไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- โรงงานทุกๆ ประเภทห้ามรับเหมาก่อสร้างในบริเวณหมู่บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดและบ้านแถวเพื่อการพักอยู่อาศัย เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายและปัญหาด้านมลภาวะ
- โรงงานประเภทที่ 1, 2 ห้ามรับเหมาก่อสร้างโรงงานภายในระยะ 50 เมตร จากเขตติดต่อโรงเรียน สถาบันการศึกษา วัด ศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน สถานที่ทำงานของหน่วยงานของรัฐ แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- โรงงานประเภทที่ 3 ห้ามก่อตั้งกิจการในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน และต้องอยู่ในสถานที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีพื้นที่เพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย
 
2) การคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อสร้างโรงงาน
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการทำโรงงาน คือ การก่อสร้างโรงงาน การเลือกผู้รับเหมาที่เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างให้โรงงานเป็นไปตามแบบแผนและตามโครงสร้างที่วางไว้ แนะนำว่าให้เลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ในการสร้างโรงงานโดยเฉพาะ เพราะโรงงานมีรายละเอียดและมาตรฐานที่ต้องการแตกต่างจากการสร้างอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ แม้ผู้รับเหมาก่อสร้างสำหรับโรงงานโดยเฉพาะจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ถือว่ามีความคุ้มค่า เพราะเหล่าธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถมั่นใจในเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยได้นั่นเอง
 
3) การเลือกอุปกรณ์และเครื่องจักรที่เหมาะสมกับโรงงาน
เครื่องจักรกับโรงงาน โดยเฉพาะกับโรงงานผลิตขนาดอุตสาหกรรมถือเป็นของคู่กัน เพราะงานในโรงงานอุตสาหกรรมมักจะต้องการความรวดเร็ว ความแม่นยำ รวมถึงความปลอดภัย เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดแรงงานคน ทำให้กระบวนการผลิตลื่นไหล ป้องกัน Human Error จึงตอบโจทย์ระบบการผลิตในโรงงานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งตลับลูกปืน หรือรางสไลด์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งจะต้องเลือกและติดตั้งให้เหมาะสมกับสเกลของโรงงาน ทั้งยังต้องคำนึงถึงการวางแผนการซ่อมบำรุง เพื่อรักษาคุณภาพและการใช้งานในระยะยาว เพราะแม้เครื่องจักรจะทำงานได้รวดเร็วและไม่มีข้อจำกัดในเรื่องความเหนื่อยล้าเหมือนมนุษย์ แต่เมื่อใช้งานไปนานๆ เครื่องจักรอาจมีการเสื่อมสภาพได้นั่นเอง
 
4) การวางระบบความปลอดภัยในโรงงาน
อย่างที่เราบอกไปว่า เครื่องจักรกับโรงงานถือเป็นของคู่กัน มีทั้งตลับลูกปืน รางสไลด์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติ หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ซึ่งอาจมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือระบบขัดข้องจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ขึ้นมาได้ การให้ความสำคัญกับการวางระบบความปลอดภัย จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เหล่าผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่วางแผนจะเป็นเจ้าของโรงงานจะต้องคำนึงถึง เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิ การติดตั้งระบบไฟฉุกเฉิน หรือการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ รวมถึงชุดยูนิฟอร์มของพนักงานให้ป้องกันไว้ทุกๆ ทางด้วย
 
5) ค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่า
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการวางแผนสร้างโรงงานเป็นของตัวเอง คือ ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายและคำนวณถึงความคุ้มค่า เพราะการเริ่มต้นทำโรงงานครั้งแรกนั้นมีต้นทุนในการเริ่มต้นค่อนข้างสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงค่าบำรุงรักษาในอนาคต ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า ต้นทุน ว่าระยะเวลาในการคืนทุนที่ใช้ไปอยู่ที่เท่าไร รวมถึงผลประกอบการที่จะได้รับนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะการสร้างโรงงานถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ มีค่าใช้จ่ายและข้อควรคำนึงหลายอย่าง ทั้งยังมีผลในเรื่องของกฎหมายที่หากฝ่าฝืนหรือประเมินและสร้างได้ไม่เหมาะสม ไม่ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเภทโรงงาน การเลือกสถานที่ที่ตั้งโรงงาน การเลือกอุปกรณ์และเครื่องจักร การวางระบบความปลอดภัย หรือในเรื่องของความคุ้มค่าทุนและกำไรที่ต้องมีการคำนวณให้ถี่ถ้วนและละเอียด
 
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
 Line : @FACTORIPRO
 
 
Visitors: 7,872