4 เมืองในประเทศเวียดนาม...ที่น่าลงทุน

4 เมืองในประเทศเวียดนาม...ที่น่าลงทุน

4 cities in Vietnam that are worth investing in

4 เมืองในประเทศเวียดนาม...ที่น่าลงทุน
1.ฮานอย (Ha Noi)
2. โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)
3. นครดานัง (Da Nang)
4.นครไฮฟอง (Hai Phong)

      ประเทศเวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าลงทุนอย่างยิ่งในหลายๆด้าน ซึ่งในหลายๆเมืองนั้น กำลังที่จะตามหานักลงทุนทางธุรกิจให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกๆด้าน วันนี้ FactoriPro จะมานำเสนอ 4 เมืองที่น่าลงในเวียดนาม พร้อมทั้งข้อมูลเบื้องต้น เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจของนักลงทุนหรือคนที่อยากที่จะทำธุรกิจในประเทศเวียดนาม

1.ฮานอย (Ha Noi)

     เมืองหลวงมีพื้นที่ประมาณ 3,345 ตารางกิโลเมตร (หลังรวมจังหวัดใกล้เคียงเข้าเป็นกรุงฮานอยใหม่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2553) ประชากร 10 ล้านคน ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง โดยมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านฮานอย เป็นศูนย์กลางด้านการบริหารประเทศ และธุรกิจการค้าทางภาคเหนือ โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติ Noi Bai ในเขตซอกซอน (Soc Son) และท่าเรือ 2 แห่งที่สามารถเดินเรือไปยังท่าเรือไฮฟองได้ ทำให้สะดวกแก่การเดินทางและการติดต่อทางธุรกิจ

     ในด้านการพัฒนา รัฐบาลเวียดนามเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนใน 3 ภาคเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ภายในกรุงฮานอยเป็นหลักเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยเป้าหมายแรกรัฐบาลเวียดนามจะยกระดับให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียดนาม ณ เขตซวนมาย (Xuan Mai) ที่โดดเด่นในเรื่องของธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมสนับสนุน อีกทั้งจะเร่งผลักดันให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพราะมีเขตหัวลัค (Hoa Lac) ที่กำลังเน้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการฝึกอบรม ขณะเดียวกันจะยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของกรุงฮานอยที่มีมายาวนานกว่า 1,000 ปี ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว รัฐบาลจะตั้งเป้าให้กรุงฮานอยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของเวียดนามตอนเหนือในเขตซันไต (Son Tay) ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในกรุงฮานอย นอกจากนี้ พื้นที่ในเขตซวนมาย (Xuan Mai) จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟา อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเทคโนโลยี สารสนเทศ เป็นต้น

2. โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)

     เมืองใหญ่ที่เป็น บ่อเกิดเศรษฐกิจสำคัญที่สุดและเป็นประตูการค้าของเวียดนาม โดยจำนวนประชากรกว่า 9 ล้านคน และครองสัดส่วน GDP เกือบ 1 ใน 4 ของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นครโฮจิมินห์ มหานครทางเศรษฐกิจของเวียดนามยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้จะเป็นอดีตเมืองหลวงของเวียดนาม แต่นครโฮจิมินห์ก็เป็น ศูนย์กลางธุรกิจการค้าและบริการการนำเข้าส่งออกการลงทุน โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ศูนย์กลางการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech)
 
      การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมซึ่งได้รับประโยชน์จากการย้ายถิ่นฐานออกจากจีนในสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น Quang Trung Software Park และ Saigon High-Tech Park (SHTP) ซึ่งได้เตรียมขยายพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลเวียดนามจึงใช้โอกาสดังกล่าวในการต่อยอดเพื่อผลักดันเขตนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของเมืองหรือที่รู้จักกันในนาม เขตเมืองใหม่ หรือ “Thu Duc City” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเช่นเดียวกับเมืองสิงคโปร์หรือฮ่องกง ทำให้เหมาะแก่การลงทุนอย่างมาก นอกจากนี้ นครโฮจิมินห์ยังเป็น ศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมของนานาชาติโดยมีท่าอากาศยานนานาชาติ Tan Son Nhat และมีท่าเรือ Saigon Port ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

3. นครดานัง (Da Nang)

     ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามกลาง มีอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทางทะเล และการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ ทำให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปและอาหารทะเลในบริการโลจิสติกส์ด้านการประมง เนื่องจากนครดานังเป็นเมืองใหญ่ที่มีการลงทุนและท่องเที่ยวมาก จึงมีโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวมาเปิดจำนวนมากเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งจากภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้เส้นทางการท่องเที่ยวมักจะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครดานัง – เมืองฮอยอัน จังหวัดกว๋างนาม หรือนครดานัง – จังหวัดเถื่อเทียนเว้
 
      นอกจากนี้ นครดานังยังเป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองอัจฉริยะร่วมกับอีก 26 เมืองของประเทศอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network:ASCN) ทำให้มีนิคมอุตสาหกรรมสำหรับรองรับการลงทุนทั่วไปจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ Da Nang Seafood Service Zone, Da Nang Industrial Zone, Lien Chieu Industrial Zone, Hoa Cam Industrial Zone และ Expanded Hoa Khanh Industrial Zone และยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Software Park, IT Park และ Hi-Tech Park
 
      ล่าสุดนโยบายใหม่ของนครดานังได้เผยว่าให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการใน อุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อเป็นผู้จัดหาสินค้า สำหรับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมสนับสนุนนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตปัจจัยการผลิตหรือบริการให้กับอุตสาหกรรมหลัก มีความสำคัญต่อการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยรวมของอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและการเกษตร นอกจากที่กล่าวมา นโยบายใหม่ของเมืองดานังยังส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุน พร้อมสนับสนุนธุรกิจในการพัฒนาเว็บไซต์ E-Commerce สร้างและส่งเสริมตราสินค้า ประยุกต์ใช้ระบบการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานของห่วงโซ่การผลิตโลก ฝึกอบรมและพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมสนับสนุน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสนับสนุน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมผู้ประกอบการเกี่ยวกับต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมปกป้องสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสนับสนุนในทุกๆ ปี

4.นครไฮฟอง (Hai Phong)

      นครไฮฟอง นับเป็นเมืองดาวรุ่งที่น่าจับตามองในเวียดนาม โดดเด่นด้านทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศจีน จึงเหมาะสมกับการคมนาคมและการทำธุรกิจนำเข้าส่งออก และได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งท่าเรือ” เนื่องจากมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมต่อเรือที่มี ท่าเรือ Dinh Vu เป็นท่าเรือแห่งแรกในเมืองท่าไฮฟองที่สามารถรองรับเรือระวางน้ำหนัก 2 หมื่นตันได้ รวมถึงตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ถึง 3 สาย ทำให้มีอุตสาหกรรม การลงทุน และการค้าพัฒนาอย่างมาก โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตท่าเรือ Tan Cang ก็ได้ช่วยเพิ่มแรงดึงดูดนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม Dinh Vu และเมืองท่าไฮฟอง ภายใต้คำขวัญ “มีจุดแข็งด้านทะเล สร้างความเจริญจากทะเล” ในหลายปีมานี้
 
      นอกจากจะโดดเด่นเรื่องท่าเรือแล้ว ยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยเฉพาะเขตเอาฮาย (An Hai) ที่เป็น Industrial Zone ซึ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยมีจำนวน 325 แห่ง และเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีจำนวนมากที่สุด ที่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ มีอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติก
 
     ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงกลายประเทศที่นักลงทุนจากบริษัทต่างชาติเลือกเป็นฐานการผลิต
จากผลวิเคราะห์ของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ได้สรุป 3 ปัจจัยและสาเหตุหลัก ๆ ที่เวียดนามเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
 
     เหตุผลแรกเป็นเพราะ เวียดนามมีความเสถียรภาพด้านรัฐบาล ด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทำให้การบริหารเป็นไปอย่างราบรื่น เน้นพัฒนาเศรษฐกิจและเข้าใจนักลงทุน อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสุดท้าย มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ดี ตอบโจทย์นักลงทุนด้านการขนส่งทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น
 
     ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นปัจจัยที่ว่า ทำไมเมืองสำคัญหลาย ๆ เมืองในเวียดนามถึงเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ สิ่งนี้อาจนำไปประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน ให้ได้ทราบว่าเวียดนามถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจและน่าลงทุนในวงการธุรกิจอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และอาจเป็นโอกาสให้ทุกท่านได้ทำการค้าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกิจการในอนาคต
 
     >>> จบกันไปแล้วสำหรับเนื้อหาที่เรานำเสนอวันนี้ และครั้งต่อไปเราจะนำเสนอเรื่องใด สามารถติดตามพวกเราได้หรือเยี่ยมชมและรับข่าวสารต่าง ๆ ได้ที่
Facebook : FACTORIPRO
Youtube : FACTORIPRO
Website : www.FactoriPro.com
 
 
 
เพิ่มเพื่อน - ติดต่อสอบถาม
 Line : @FACTORIPRO
 
ไลน์ Line FactoriPro
Visitors: 7,872